งานวิจัยและมุมมองด้านวิชาการ ของ เรียวจิ โนโยริ

โนโยริเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาและเคมีสีเขียว เขาเขียนบทความหนึ่งใน ค.ศ. 2005 แสดงเจตนามุ่งมั่นไปสู่ "ความสวยงามที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในการสังเคราะห์สาร"[11] ในบทความดังกล่าวโนโยริกล่าวว่า "ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีการสังเคราะห์ที่ตรงไปตรงมาและใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความอยู่รอดของมนุษยชาติ" นอกจากนี้เขายังเคยกล่าวด้วยว่า "การวิจัยนั้นเป็นไปเพื่อประเทศชาติและมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวนักวิจัยเอง" โนโยริยังสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยกล่าวว่า "นักวิจัยต้องกระตุ้นความคิดเห็นของประชาชนและนโยบายของรัฐบาลเพื่อไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21"[12]

โนโยริดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปการศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะหลังขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 2006[13]

โนโยริเป็นที่รู้จักจากปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโดยใช้สารประกอบโคออร์ดิเนชันของโรเดียมและรูทีเนียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยเฉพาะสารประกอบที่มีไบแนปเป็นลิแกนด์อย่างเช่นในปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโนโยริ ปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรของแอลคีนโดยใช้ ((S)-BINAP)Ru(OAc)2 ได้นำไปใช้ในการสังเคราะห์ยาระงับปวดนาโปรเซนในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่การสังเคราะห์ยาต้านแบคทีเรียลีโวฟลอกซาซินก็ใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันในการเติมไฮโดรเจนลงในคีโทนโดยใช้สารเชิงซ้อนรูทีเนียม(II) ไบแนปแฮไลด์

โนโยริยังมีผลงานอื่นเกี่ยวกับการสังเคราะห์แบบอสมมาตร ผลงานหนึ่งได้แก่ปฏิกิริยาไอโซเมอไรเซชันของแอลลิลลิกเอมีนซึ่งทากาซาโงะอินเทอร์แนชันนัลคอร์พอเรชันได้นำไปใช้สังเคราะห์เมนทอลซึ่งสามารถผลิตได้ปีละ 3000 ตัน[14]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรียวจิ โนโยริ http://www.flex-news-food.com/console/PageViewer.a... http://www.ingentaconnect.com/content/matthey/pmr/... http://www.nature.com/news/president-of-japan-s-ri... http://www.spc.univ-rennes1.fr/Rennes1Campus/2001/... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15795753 http://en.nagoya-u.ac.jp/people/nobel/ryoji_noyori... http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/nn20070120a... http://www.riken.jp/en/pr/topics/2015/20150324_1/ http://www.jce.divched.org/JCEWWW/Features/eChemis... //doi.org/10.1039%2FB502713F